การบริโภคยาสูบยังส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases - NCDs) จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2564 พบว่าประชากรไทยอายุุ 15 ปีขึ้นไปบริโภคยาสูบ 9.9 ล้านคน (ร้อยละ 17.4) ซึ่งมีแนวโน้มลดลง จากการวิเคราะห์ในแผนปฏิบัติการ ด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติฉบับที่สาม พ.ศ. 2565 – 2570 ระบุไว้ว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถลดการบริโภคยาสูบได้ โดยเฉพาะการดำเนินงานที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมีมากขึ้น แต่ยังขาดการดำเนินงานเชิงรุก ในกลุ่มผู้ป่วย NCDs และในกลุ่มเยาวชน ซึ่งคาดการณ์ว่าหากต้องการให้เป็นไปตามเป้าหมายของการควบคุมยาสูบ ตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ อัตราการสูบ
บุหรี่ของคนไทย ควรจะลดลงเหลือร้อยละ 15 สำหรับผู้สูบที่คิดจะเลิกแต่ยังไม่เคยหยุดสูบ ลดลงจาก ร้อยละ 37.1 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 34 ในปี 2564
ดังนั้น ในแผนดังกล่าว จึงกำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะต้องลดอัตราการบริโภคยาสูบลงให้ได้ภายในปี 2568 อย่างน้อยร้อยละ 30 และกำหนดเป้าหมายการพัฒนา ในส่วนของการเลิกบุหรี่ คือ ลดความชุก การบริโภคยาสูบของประชากรไทย อายุุ 15 ปีขึ้นไปเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2570 ให้ได้ไม่เกินร้อยละ 14
เพื่อให้อัตราการสูบบุหรี่ และจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงตามเป้าหมาย ในแผนปฏิบัติการ ด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สาม (พ.ศ. 2565 - 2570) ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ที่ 3 บำบัดรักษาผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ เพื่อให้ผู้เสพเข้าถึงบริการเลิกยาสูบ และเลิกยาสูบได้สำเร็จยั่งยืน รวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ดังนี้ (1) ผู้เสพยาสูบเข้าสู่ระบบบำบัดเลิกเสพได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องใน 6 เดือน ร้อยละ 30 (2) ผู้เสพยาสูบต้องการเลิกเสพ ร้อยละ 70 (3) ผู้เสพยาสูบที่ต้องการเลิกเสพสามารถเข้าสู่ระบบบำบัดเลิกยาสูบ ได้ร้อยละ 50 และ (4) มีระบบการให้บริการเลิกยาสูบที่มีคุณภาพ ในคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ร้อยละ 100 และคลินิกโรคเรื้อรังอื่น ร้อยละ 80 ทั้งนี้ ในแผนฯ ฉบับนี้ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือ ศบช. ได้มีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติฯ ยุทธศาสตร์ที่ 3 บำบัดรักษาผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ ซึ่งมีการกำหนดยุทธวิธีเพื่อการบรรลุเป้าหมายข้างต้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การสร้างเสริมพลังชุมชนและเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อการบำบัดผู้เสพยาสูบ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ให้บริการเลิกยาสูบ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพระบบบริการเลิกยาสูบและสายด่วนเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ ศบช. ได้รับการระบุให้เป็นหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในกิจกรรมในทุกยุทธวิธีข้างต้นด้วยแล้ว
สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ก่อตั้งขึ้นด้วย ข้อตกลงของระหว่าง 3 หน่วยงาน คือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งเป็น “ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.)” ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งภายในการกำกับดูแลของมูลนิธิสร้างสุขไทย ให้บริการตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ทั้งนี้ ศบช. ได้พัฒนาระบบบริการโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน/งานวิจัย ตลอดมา จนกระทั่ง ได้รับการรับรองให้เป็น ศูนย์ฯ แห่งชาติ โดย คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 2/2554 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554เป็นบริการฟรี สำหรับ คนไทยผู้ใช้โทรศัพท์จากทุกค่าย ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2554 ตลอดจนได้พัฒนามาตรฐานระบบบริการเลิกบุหรี่ทั้งในเชิงโครงสร้าง กระบวนการและการกำกับ/ประเมินผลลัพธ์ จนได้การรับรองให้เป็นหน่วยบริการของ สปสช.เมื่อ 14 มีนาคม 2566 ภายใต้การกำกับดูแลของ มูลนิธิสร้างสุขไทย ซึ่งมี นายแพทย์ อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล เป็นประธาน และมี รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ จนกระทั่งปัจจุบัน