การเกิดเป็นมะเร็ง
โดย ดร.สุชาดา เรืองรัตนอัมพร
นักวิชาการ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
คำว่า “มะเร็ง” หรือ “โรคมะเร็ง” ในภาษาอังกฤษคือ cancer หรือ carcinoma คำนี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า carcinos ในภาษากรีก สมัยก่อนคริส์ตศักราชเชื่อกันว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นการลงโทษจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้นับถือศาสนาคริสต์เชื่อว่าเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
ในศตวรรษที่ 17 เริ่มสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าการเกิดโรคต้องมีสาเหตุ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน ค.ศ.1620 มีการเผยแพร่ข้อเขียนที่กล่าวว่าการสัมผัสกับสารบางอย่างเป็นเวลานานๆ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ (1) ต่อมาราวศตวรรษที่ 18 มีความพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าการป่วยมีสาเหตุที่อธิบายได้ โดยพบความเกี่ยวข้องระหว่างการป่วยเป็นมะเร็งของผู้ที่ต้องสัมผัสกับสารบางอย่างเป็นประจำในขณะทำงานและพบว่าการเป็นมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด
หลายสิบปีที่ผ่านมา การอธิบายคำว่ามะเร็งจะใช้คำว่า เนื้องอก หรือ เนื้อร้าย และพบว่าผู้ที่เป็นมะเร็งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย แต่ยังไม่สามารถระบุปัจจัยที่เป็นสาเหตุได้ ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถศึกษาถึงระดับโครงสร้างของหน่วยพันธุกรรม (gene) ที่มีอยู่ในเซลล์ จึงทำให้ได้ข้อมูลว่าการเป็นมะเร็งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีชีวิตที่เล็กที่สุดในร่างกายของคนเรา
การเจริญเติบโตของเซลล์คือการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนและสร้างเป็นอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ในการแบ่งตัวของเซลล์แต่ละครั้ง หน่วยพันธุกรรมจะจำลองตัวขึ้นมาใหม่อีกชุดหนึ่งอีกเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ที่เกิดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีความเหมือนกับเซลล์เดิมเพื่อการทำหน้าที่ต่อไป แต่หากหน่วยพันธุกรรมที่จำลองตัวขึ้นมานี้มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะกลายพันธุ์ (mutation) โดยหน่วยพันธุกรรมที่ควบคุมกระบวนการตายของเซลล์เสียหน้าที่ จะทำให้เซลล์ที่เพิ่มมาใหม่นี้อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้คือไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ จึงมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ และเรียกสารที่เป็นสาเหตุการเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์นั้นว่า สารก่อมะเร็ง (carcinogen)
ดังนั้น การเกิดเป็นมะเร็ง เป็นการป่วยที่มีสาเหตุ เป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติหรือเวรกรรม มะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางชนิดอาจยังมีข้อจำกัด การค้นพบเซลล์มะเร็งได้เร็วจะส่งผลต่อความสำเร็จของการรักษา อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารก่อมะเร็งจะช่วยลดโอกาสการเกิดเป็นมะเร็งได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.cancer.org/cancer/cancerbasics/thehistoryofcancer/the-history-of-cancer-cancer-epidemiology (23 Oct 2015)