การวิจัยระดับโลกครั้งแรกของ WHO ใน 192 ประเทศพบว่าควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจำนวน 600,000 รายต่อปี หนึ่งในสามคือเด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านของตัวเอง นับว่าเป็นอัตราการเสียชีวิตในวัยเด็กที่สูงกว่าการเสียชีวิตจากเหตุอื่น อาทิ การเสียชีวิตในขณะนอนหลับ ปอดบวม และ หอบหืด โดยทั่วไป ควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดโรคหัวใจ อาการเจ็บป่วยทางระบบทางเดินหายใจ และ มะเร็งปอด
การวิจัยมุ่งประเด็นพิจารณาไปที่ความประจวบเหมาะของอาการเจ็บป่วยบางประการที่สอดคล้องกับจำนวนผู้คนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในสถานที่ที่ผู้วิจัยให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ และได้พบความเชื่อมโยงระหว่างโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อและการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงที่นำมาซึ่งการเสียชีวิตจำนวนมากดังกล่าว
จากตัวเลขของการเสียชีวิตทั้งหมด องค์การอนามัยโลกแสดงความกังวลถึงการเสียชีวิตของเด็กจำนวน 165,000 คน ที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยมีสาเหตุจากควันบุหรี่มือสอง มากกว่าครึ่งของเด็กเหล่านี้อาศัยอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และอาฟริกา พวกเขาได้รับควันบุหรี่มือสองมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นและได้รับจากในบ้านของตนเอง ดังนั้น การเร่งให้ความรู้กับผู้คนถึงอันตรายที่ตนเองหยิบยื่นให้กับบุตรหลานเป็นสิ่งแรกที่จะต้องทำ
ตัวเลขของผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองทั่วโลกที่พบในปี 2004 คือ 40% ของประชากรเด็ก 33% ของประชากรผู้ชายที่ไม่สูบบุหรี่และ 35% ของประชากรผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ โดยควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจจำนวน 379,000 ราย จากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ 165,000 ราย จากหอบหืด 36,900 ราย และจากมะเร็งปอด 21,400 ราย ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ประชากรในทวีปยุโรปและเอเซียได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด และประชากรในอเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและอาฟริกาได้รับน้อยที่สุด
แม้ว่าในการทำวิจัยจะมีข้อจำกัดซึ่งรวมถึงความแปรปรวนของข้อมูลด้านสุขภาพและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผู้สูบบุหรี่จำนวน 1.2 พันล้านคนทั่วโลกเป็นผู้ก่อมลพิษทางอากาศอันเป็นสาเหตุของโรคร้ายให้กับประชากรโลกนับพันล้านคนที่ไม่สูบบุหรี่
ที่มา: BBC News, Passive smoking 'kills 600,000' worldwide, 26 November 2010