พลังสูงวัย ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

พลังสูงวัย ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ

            กระแสเรื่องการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เริ่มเป็นที่ยอมรับและรับรู้กันในวงกว้าง ซึ่งหากไม่มีการเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ก็อาจกลายเป็นวิกฤติปัญหาของสังคม โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามชุมชนท้องถิ่นห่างไกล

            นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   ได้นำคณะผู้บริหาร จากสำนักงานผู้ตรวจการแผนดิน (สผผ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน พร้อมถอดบทเรียนระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ณ เทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ และองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

            “เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งในปี 2565 เรียกได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสมบูรณ์ หรือมีผู้สูงอายุร้อยละ 20 และกำลังก้าวสู่ขั้นสูงสุด คาดว่าปี 2576 อาจจะมีถึงร้อยละ 28 ซึ่งหากไม่มีแผนรองรับก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้” เป็นความเห็นของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

            ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ที่ตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ และ อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เผชิญปัญหาสังคมสูงวัยก่อนที่อื่น ๆ  โดยพบว่ามีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30 ดังนั้น ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ ยังเป็นกลุ่มที่มีพลัง ไม่เป็นปัญหา ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้สูงอายุ ยังมีสุขภาพร่างกายอยู่ในระดับที่ไปไหนมาไหนได้ มีกลุ่มผู้ป่วยที่ติดบ้าน ติดเตียง อยู่แค่ร้อยละ 1 เท่านั้น ประมาณ 10 กว่าคน ซึ่งทางเทศบาลได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่เข้ามาดูแลตั้งแต่เรื่องของอาหาร อารมณ์ และการส่งเสริมอาชีพ

            “ในการทำงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้แปลว่าเราทำงานกับคนที่สูงอายุแล้วเท่านั้น เรามีการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุในเรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถ้าให้ดีต้องเตรียมการก่อนเกษียณ ก่อนสูงอายุ เช่น ให้มีการออมที่ดีพอ มีการศึกษาเรียนรู้ให้เท่าทันโลก มีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นเมื่อร่างกายไม่พร้อม หรือเรื่องสุขภาพที่ต้องดูแลสร้างเสริมให้แข็งแรง ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุขั้นต้นตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ก็ได้ถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมขบวนอยู่ในการช่วยเหลือผู้ที่สูงอายุกว่า และขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมความพร้อมของวัยก่อนจะสูงอายุไปในตัวด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว

          ขณะที่ นางลัดดา ไชยชนะ นายกเทศมนตรีตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ตำบลสองแคว ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุ  โดยพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และไม่มีเงินออม  จึงได้พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อช่วยในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เช่น บริการรถรับส่ง 24 ชั่วโมงเวลาเจ็บป่วย กองทุนวันละบาท เพื่อดูแลยามเจ็บป่วย รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยด้านอื่น ๆ  เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ ซ่อมแซมบ้าน นอกจากนี้ ยังมีกองทุนจากสถาบันการเงินชุมชนบ้านสามหลัง เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

            “ผู้สูงอายุที่นี่ไม่เป็นภาระชุมชนเลย เพราะสามารถเป็นทั้งผู้รับความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ให้ชุมชนด้วย เช่น การเป็นจิตอาสาช่วยคัดแยกขยะ การเป็นวิทยาถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาต่าง ๆ ให้กับคนรุ่นหลัง” นางลัดดา กล่าว

            นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. เล่าเสริมว่า ทั้งสองพื้นที่มีพลังของชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งอื่น ๆ ใช้เป็นแนวทางได้ โดย สสส. มีพื้นที่ส่งเสริมเช่นนี้อีกประมาณ 5 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็จะสร้างเครือข่ายของตนเองไม่ต่ำกว่า 4-5 แห่ง รวมทั้งหมดภายใน 2 ปีนี้ เราจะมีองค์กรที่ถือว่าเป็นต้นแบบของการดูแลผู้สูงอายุ และพร้อมที่จะขยายผลไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

            ขณะที่ พ่อตั๋น ใจสุข อายุ 75 ปี ผู้สูงอายุในเทศบาลตำบลสองแคว เล่าว่า ผู้สูงอายุในพื้นที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำงานจักสาน ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว แบ่งเบาภาระลูกหลาน และรู้สึกว่ามีความสุขมากที่ได้มารวมตัวทำกิจกรรมได้พบปะกัน ได้พูดคุยหัวเราะกัน ช่วยทำให้ผู้สูงอายุไม่เครียด ไม่เป็นซึมเศร้า รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง สุขภาพก็ดี ไม่เป็นภาระของชุมชน

            สำหรับการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน สามารถปฏิบัติตามหลัก 5อ. 5ก. เพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          โดยหลัก 5 อ. ประกอบด้วย

            1. การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ

            2. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

            3. การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ

            4. การออมเพื่อผู้สูงอายุ

            5. ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน

          ส่วน 5 ก.หมายถึง 5 กลไก ประกอบด้วย

            1. การป้องกันและลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

            2. การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ

            3. การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ

            4. การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

            5. การบริการกายอุปกรณ์

            หากลองปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้สูงอายุเสียใหม่ ไม่มองว่าผู้สูงอายุอ่อนแอ ต้องรอรับความช่วยเหลือ แต่ผู้สูงอายุ คือ กลุ่มคนที่ยังมีศักยภาพ มีความสามารถในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากได้รับการส่งเสริม พัฒนา ก็จะเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนได้

          นอกจากนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ยังได้ร่วมกันพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์ “หลักสูตรผู้สูงวัยยุคดิจิทัล” ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเรียนได้ที่เว็บไซต์ www.thaismartageing.org

1650573370521.jpg

1650573378295.jpg

1650573382663.jpg

1650573386979.jpg

1650573391586.jpg

1650573395581.jpg

1650573399855.jpg

1650573403723.jpg

หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th