ชาวอเมริกันที่ซื้อบุหรี่ในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 จะได้เห็นคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพ ที่อาจจะฟังดูล้าสมัย อาทิ “การสูบบุหรี่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” เมื่อเปรียบเทียบกับซองบุหรี่ในปัจจุบันที่ออกจะดูน่ากลัวด้วยคำเตือนที่ชัดเจนเด็ดขาด อาทิ “คำเตือนจากศัลยแพทย์: การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และอาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์”
ทว่าคำเตือนเหล่านี้ได้ผลดี การวิจัยแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่มีการระบุคำเตือนข้างซองบุหรี่อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ผู้สูบบุหรี่จะมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของการสูบบุหรี่มากกว่าในประเทศที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเดียวกัน แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้สูบบุหรี่ที่เห็นคำเตือนดังกล่าวได้สูบบุหรี่น้อยลงหรือไม่ นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีในผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขว่า การส่งข้อความเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ให้แต่ละบุคคลเป็นการเฉพาะเจาะจงในลักษณะส่วนตัวจะได้ผลมากกว่า ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ได้รับการแจ้งจากแพทย์ว่าพี่สาวของเธอตกลงที่จะช่วยเหลือเธอในการเลิกสูบบุหรี่ มีแนวโน้มจะเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่าคนไข้ที่เพียงแต่เห็นคำเตือนบนซองบุหรี่ นั่นเป็นเพราะการส่งสารถึงแต่ละบุคคลเป็นการส่วนตัวได้ผลในทางจิตวิทยามากกว่า
งานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่าข้อความต่อต้านการสูบบุหรี่ที่เขียนขึ้นเป็นการเฉพาะเจาะจงจะส่งผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการรับรู้ตัวตนของแต่ละบุคคล ซึ่งเชื่อมโยงกับการควบคุมอารมณ์ รวมทั้งส่งผลต่อสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการรับรู้ทางพื้นฐานและการประเมินการรับรู้ของผู้อื่นต่อตนเอง ทีมงานวิจัยนำโดยนักจิตวิทยาได้รับสมัครผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบจำนวน 91 คน คนเหล่านี้สูบบุหรี่จำนวน 17 ตัวต่อวัน ในระหว่างการวิจัยพวกเขาได้รับการทำ fMRI Scanning เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงโดยอ่านข้อความที่ปรากฏขึ้นบนจอภาพไปด้วย ข้อความบางข้อความเขียนขึ้นเป็นการเฉพาะเจาะจงโดยดูจากประวัติส่วนตัวของผู้เข้าร่วมในการวิจัย บางข้อความเป็นการต่อต้านการสูบบุหรี่ทั่วๆ ไป และ ข้อความของกลุ่มควบคุมซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสูบบุหรี่เลย อาทิ “ลมคืออากาศที่เคลื่อนไหว”
นักวิจัยพบว่าข้อความที่ได้ถูกทำขึ้นเป็นการเฉพาะเจาะจงสามารถกระตุ้นสมองส่วนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้อย่างมีนัยสำคัญมากกว่าข้อความอีกสองประเภท อีกนัยหนึ่ง การอ่านประโยคสั้นๆ สามารถเปลี่ยนการทำงานของสมองของผู้อ่านได้ และผู้ที่สมองได้รับการกระตุ้นอย่างชัดเจนมีโอกาสที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ในอีกสี่เดือนถัดมา
งานวิจัยชิ้นนี้นับว่ามีความสำคัญและสนับสนุนแนวคิดเรื่องการบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy: CBT) ว่าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมองได้ แม้ว่าการรักษาโดยการใช้ยาทางจิตเวชสามารถเปลี่ยนการทำงานของสมองได้เช่นกัน แต่ยาเหล่านี้ไม่ได้ผลมากไปกว่าการบำบัดทางจิตใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจังโดยใช้แนวทางของการปรับพฤติกรรมจะได้ผลดีกว่าการใช้ยา เป็นการช่วยให้เลิกบุหรี่ได้โดยปรับวิธีคิดของสมองซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่ในท้ายที่สุด
ที่มา: Taming the Smoker's Brain: A Better Way to Quit?
โดย John Cloud, Thursday, April 14, 2011