เป็นที่รู้กันว่าการสูบบุหรี่และสารหนูต่างเป็นสาเหตุของความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย และเมื่อใดที่อันตรายทั้งสองมารวมกัน นั่นหมายถึงความเสี่ยงสูงสุดของการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด ด้วยเหตุที่พิษของสารหนูจากน้ำดื่ม ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด มักจะทำให้ผู้ได้รับพิษเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด หากผู้ที่ได้รับพิษเป็นผู้สูบบุหรี่แล้วด้วย อันตรายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ
การสูบบุหรี่เป็นอันตรายร้ายแรงที่ทั่วโลกตระหนัก ทว่าการได้รับพิษสารหนูรวมกับพิษของบุหรี่นับเป็นปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก มีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือดที่มีสาเหตุจากปัจจัยทั้งสองอย่างผนวกกัน การศึกษาทางระบาดวิทยาของโครงการติดตามผลด้านสุขภาพจากการได้รับพิษของสารหนูในบังคลาเทศเปิดเผยให้ทราบว่าในปี 1970 มีคนนับล้านในประเทศแถบเอเชียใต้ได้รับพิษของสารหนูโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการดื่มน้ำในบ่อน้ำ
นอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยในอเมริกาได้ร่วมกันศึกษาผลกระทบทางสุขภาพของการได้รับสารหนูเป็นเวลานานในผู้เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศจำนวน 12,000 คน เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของการได้รับสารหนูและการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด ตัวอย่างปัสสาวะจากผู้ร่วมโครงการทั้งชายและหญิงและตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำที่พวกเขาดื่มถูกนำมาตรวจสอบเพื่อวัดระดับการได้รับสารหนู มีการติดตามผลกลุ่มตัวอย่างเป็นเวลาเฉลี่ย 6.6 ปี เพื่อบันทึกสาเหตุการเสียชีวิตหากเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ผลการวิจัยพบว่าผู้เสียชีวิต 198 รายจาก 460 ราย เสียชีวิตเนื่องจากภาวะหัวใจขาดเลือด
เมื่อพิจารณาถึงระดับของสารหนูที่ได้รับ นักวิจัยพบอัตราการเสียชีวิตที่มีนัยสำคัญในผู้ที่ได้รับสารหนูสูงกว่า 12 ส่วนในล้าน ซึ่งสูงกว่าระดับที่ WHO ระบุว่าเป็นระดับที่ปลอดภัย คือ 10 ส่วนในล้าน เพียงเล็กน้อย อาจกล่าวได้ว่า 50% ของผู้ที่ดื่มน้ำที่มีปริมาณสารหนูสูงกว่า 12 ส่วนในล้าน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือดมากกว่าผู้ที่ดื่มน้ำที่มีปริมาณสารหนูน้อยกว่า ซึ่งเป็นการยืนยันอันตรายจากสารหนูที่เชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในส่วนของการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับหัวใจ นักวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่ร่วมกับการได้รับพิษจากสารหนูในระดับกลางและระดับสูง ส่งผลให้ความเสี่ยงดังกล่าวสูงมากขึ้นไปอีก ผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ได้รับพิษจากสารหนูในระดับที่สูงกว่าระดับที่ปลอดภัยสิบเท่า มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด มากกว่าคนที่ได้รับพิษในระดับที่ปลอดภัยถึง 50% แต่ในกรณีของผู้สูบบุหรี่ ความเสี่ยงดังกล่าวจะสูงถึง 300%
ผลที่ได้จากการวิจัยทั้งในกลุ่มชาวบังคลาเทศและประชาชนในส่วนอื่นของโลกรวมทั้งสหรัฐอเมริกามีความสอดคล้องกันว่า การได้รับพิษจากสารหนูแม้ในระดับกลางทำให้ผลร้ายของการสูบบุหรี่เลวร้ายลงไปอีก จึงนับเป็นเหตุผลสำคัญที่จะต้องดำเนินการในเรื่องการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งดูแลให้ประชาชนปลอดภัยจากพิษของสารหนู ด้วยเหตุที่การได้รับพิษจากสารหนูจากการดื่มน้ำใต้ดินกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้
ที่มา: Cigarette Smoking and Arsenic Exposure: A Deadly Combination
EurekaAlert, May 5, 2011