นักวิจัยต่างรู้ดีว่าการออกกำลังกายช่วยควบคุมอาการอยากบุหรี่ได้ แต่ยังไม่สามารถยืนยันผลในระยะยาว งานวิจัยล่าสุดระบุว่าประโยชน์ของการออกกำลังกายในการลดความรู้สึกอยากสูบบุหรี่เป็นผลเพียงชั่วคราว และยังต้องทำการวิจัยต่อเนื่องเพื่อค้นหาว่าต้องออกกำลังกายบ่อยแค่ไหนเพื่อทำให้ผลดีดังกล่าวคงอยู่ได้นานขึ้น
งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าการออกกำลังกายในระดับปานกลางช่วยให้ผู้หญิงมีอารณ์ดีขึ้น และควบคุมอาการอยากสูบบุหรี่ได้ ในการทดลองขนาดเล็ก ทีมงานจากหลายมหาวิทยาลัยได้รับสมัครผู้สูบบุหรี่เพศหญิงจำนวน 60 คนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการเลิกสูบบุหรี่เป็นเวลา 8 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างได้รับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่และการใช้แผ่นนิโคตินทดแทน
กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วติดต่อกันเป็นเวลา 50 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มควบคุมซึ่งจะมีการฉายวิดีโอเกี่ยวกับการมีสุขภาพดีให้ชมเป็นเวลา 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นักวิจัยได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ทันทีก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง และจะสอบถามอีกครั้งในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งถัดไป
ผลการทดลองพบว่ากลุ่มตัวอย่างในกลุ่มออกกำลังกายมีอารมณ์ดีขึ้นและอยากสูบบุหรี่น้อยลง แต่ความรู้สึกดังกล่าวค่อยๆ ลดลงและหมดไปก่อนการออกกำลังกายครั้งถัดไป สิ่งที่ยืนยันได้คือการออกกำลังกายเป็นกลยุทธที่ได้ผลในการเยียวยาผู้สูบบุหรี่ แต่จะต้องทำให้สม่ำเสมอและบ่อยครั้งเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงว่าผลดีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเฉพาะในการทดลองที่มีการควบคุมปัจจัยต่างๆ อย่างเข้มงวด ไม่ใช่ในชีวิตจริงของผู้สูบบุหรี่ นักวิจัยยังต้องการคำตอบสำหรับทฤษฏีใหม่ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นในการนำไปปฏิบัติจริง
ทั้งนี้ งานวิจัยในขั้นถัดไปจะรับสมัครกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น โดยจะใช้เวลาดำเนินการโครงการ 5 ปี เพื่อศึกษาผลที่ได้ในรายละเอียด และจะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในการออกกำลังกายเพื่อช่วยในการบันทึกข้อมูล โดยหวังว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่จะทำให้ผลดีในเรื่องการลดความอยากสูบบุหรี่อยู่ได้นานขึ้น และช่วยให้ผู้หญิงเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น
ที่มา: Exercise helps women fight smoking cravings, but effect is short-lived
Science Daily, May 20, 2011