ทำไมต้องร่วมมือกันผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับใหม่)*
ดร.สุชาดา เรืองรัตนอัมพร
นักวิชาการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
มีรายงานการศึกษายืนยันแน่นอน (1) เมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา ว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งและโรคร้ายแรงต่างๆ และจากการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างการสูบบุหรี่และการตายในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 70 ปี (2) พบว่าชายและหญิงที่สูบบุหรี่มากกว่าวันละ 20 มวนมีอัตราตายเท่ากับร้อยละ 41 และร้อยละ 26 ตามลำดับ องค์การอนามัยโลกระบุว่าบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพที่สามารถหลีกเลี่ยงได้และกำหนดเป็นนโยบายให้ประเทศสมาชิกร่วมกันรณรงค์เพื่อการเลิกบุหรี่
หน่วยงานในประเทศไทยมากกว่า 35 หน่วยงานที่มีภารกิจหลักเกี่ยวข้องกับบุหรี่ทั้งการควบคุมการบริโภคและการเลิกบุหรี่ แต่ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมายังพบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ โรคเรื้อรังและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และพบด้วยว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน จากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติพ.ศ. 2557 (3) พบว่าประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 20.7 เป็นผู้สูบบุหรี่ โดยร้อยละ 18.2 (10 ล้านคน) สูบบุหรี่เป็นประจำ ส่วนผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน มีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มสูบลดลง จากที่อายุ 16.8 ปี (พ.ศ.2550) ลงเหลืออายุ 15.6 ปี (พ.ศ. 2557) กรมควบคุมโรครายงานการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ (4) มีมากกว่า 48,000 คน ใน พ.ศ.2552 และจะเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 60,000 คนใน พ.ศ. 2560 และโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนก่อนเสียชีวิตจะป่วยหนักเป็นเวลากว่า 2 ปี ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคเรื้อรังใน พ.ศ. 2552 คิดเป็นเงิน 192,512 ล้านบาท
การพยายามรณรงค์เพื่อการเลิกบุหรี่เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุ การยุติปัญหาที่ต้นเหตุคือต้องไม่มีบุหรี่วางจำหน่ายในประเทศ กำหนดให้บุหรี่เป็นยาเสพติดร้ายแรง ห้ามปลูกและห้ามนำเข้ายาสูบจากนอกประเทศ ผู้ใดมียาสูบไว้ในครอบครองเพื่อสูบเองหรือเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกถือเป็นความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ไม่อาจทำได้โดยง่าย เพราะกระบวนการผลิตบุหรี่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับหลายส่วนนับตั้งแต่ผู้ปลูกต้นยาสูบมาจนกระทั่งเป็นมวนบุหรี่
ตลอดช่วง 76 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเป็นผู้ดำเนินงานการผลิตบุหรี่แต่เพียงผู้เดียวซึ่งสร้างรายได้เป็นจำนวนมากและมีผลกำไรเพิ่มมาโดยตลอด จากรายงานประจำปีพ.ศ. 2556 (5) ระบุว่าการประกอบการทั้งปีมีกำไรสุทธิ 7,480.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 จำนวน 825.18 ล้านบาท นำส่งเงินรายได้ให้รัฐทั้งสิ้น 61,748.71 ล้านบาท นอกจากนี้โรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจปัจจุบันมีพนักงานทั้งสิ้น 3,610 คน (ข้อมูล พ.ศ.2556) พนักงานทุกคนตลอดจนครอบครัวมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการคล้ายกับข้าราชการ
บุหรี่อยู่กับสังคมไทยมานานจนหยั่งรากฝังลึก แม้จะทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่บุหรี่ก็ยังไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย การยุติการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไม่อาจทำได้แต่การรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดการตระหนักรู้อย่างจริงจังว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายและส่งผลเสียในระยะยาว การพยายามร่วมมือกันเพื่อผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับใหม่) เชื่อว่าจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยสกัดกั้นการขยายตัวของการจำหน่ายบุหรี่ในประเทศได้
* หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
(1) General, U. S. (1990). The health benefits of smoking cessation. Washington: Department of Health and Human Services.
(2) Vollset, S. E., Tverdal, A., & Gjessing, H. K. (2006). Smoking and deaths between 40 and 70 years of age in women and men. Annals of Internal Medicine, 144(6), 381-389.
(3) การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2557 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
(4) รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ.2552 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ คาดการณ์โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2555
(5) รายงานประจำปี โรงงานยาสูบ พ.ศ. 2556