รศ. ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์
ผศ. ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์
ดร.สุวิมล โรจนาวี
น.ต.หญิง อรวรรณ ฆ้องต้อ
พ.ต.หญิง นัยนา วงศ์สายตา
ร.อ.หญิง จิรภิญญา คำรัตน์
บทคัดย่อ
การให้บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีหลักฐานทางวิชาการว่าเป็นวิธีการช่วยให้เลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก เข้าถึงได้ง่าย ประหยัด ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เช่น ผู้พิการ หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลสถานบริการ ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง หรือรอรับบริการในคลินิก (Zhu & Anderson, 2000) และจากการศึกษายังพบอีกว่าผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ชอบรูปแบบการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์มากกว่าการพูดคุยแบบเห็นหน้าตัวต่อตัวกับผู้ให้คำปรึกษา (Face-to-face program) (McAfee, Sofian, Wilson & Hindmarsh,1998; Zhu & Anderson, 2000) การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งศึกษาผลของการติดตามให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ต่ออัตราความพยายามเลิกบุหรี่ อัตราการเลิกบุหรี่ต่อเนื่องที่ระยะเวลา 7 วัน, 30 วัน, 3, และ 6 เดือน ความพึงพอใจในบริการ และคุณภาพชีวิตของผู้สูบบุหรี่ที่มาใช้บริการเลิกบุหรี่ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ในช่วงตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ถึง 31 กรกฎาคม 2556 โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลบริการของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติร่วมกับการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงเดือน สิงหาคม ถึง พฤศจิกายน 2557 โดยใช้แบบบันทึกและแบบสัมภาษณ์จำนวน 4 ชุด คือ 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปและคัดกรองการสูบบุหรี่ เป็นบันทึกข้อมูลจากฐานข้อมูล 2) แบบสัมภาษณ์การเลิกบุหรี่ เป็นแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ค่าความตรงของเนื้อหา (S-CVI) 1.00 ค่าความเที่ยง (Cronbanch’s alpha) 0.93 3) แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจในการบริการ ผู้วิจัยดัดแปลงมาจาก ชนะภัย อดิเรกศิวกุล (2553) ค่าความตรงของเนื้อหา (S-CVI) 0.71 ค่าความเที่ยง (Cronbanch’s alpha 0.949 และ 4) แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิต (Short Form Health Survey: SF-12) (version 2) ที่พัฒนาขึ้นโดย Ware และคณะ (ค.ศ. 1996) ค่าความตรงของเนื้อหา (S-CVI) 0.50 ค่า Covergent และ Discriminant validity satisfactory 100%
ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่ใช้บริการ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 88.2) และร้อยละ 11.8 เป็นเพศหญิง กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 39.7 ปี (SD= 13.2) ประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 34.3) มีอาชีพรับจ้าง รองลงมา (ร้อยละ 23.5) เป็นพนักงานบริษัทเอกชน และประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 31.4) มีโรคประจำตัว ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 92.29) สูบบุหรี่ซิกาแรต (บุหรี่โรงงาน) มีเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 6.4) สูบบุหรี่มวนเอง (ยาเส้น) กลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 17 มวน (SD= 10.2) กลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่มานาน โดยเฉลี่ย 20.5 ปี (SD= 12.6) น เมื่อพิจารณาระดับการติดนิโคตินโดยใช้ Heaviness of Smoking Index (HSI) พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.2) มีระดับการติดนิโคตินปานกลาง และร้อยละ 15.9 ติดนิโคตินในระดับต่ำ
ความพยายามเลิกบุหรี่อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 7 วัน พบว่า ส่วนใหญ่เคยพยายามเลิกบุหรี่ (ร้อยละ 78.9) มีเพียงร้อยละ 21.1 ที่ไม่เคยพยายามเลิกบุหรี่
อัตราการเลิกบุหรี่ต่อต่อเนื่องกัน 6 เดือน พบว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างสามารถหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องกัน 6 เดือน (ร้อยละ 51.5) และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.5 ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นอัตราการเลิกบุหรี่ต่อเนื่องกัน 6 เดือน เท่ากับ 0.51
กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในภาพรวมเรื่องการบริการเลิกบุหรี่ที่ได้รับจากศูนย์ฯ ในระดับมากที่สุดโดยคิดคะแนนเฉลี่ยเป็น 4.7 (SD = 0.5) โดยมีความพึงพอใจต่อการใช้ถ้อยคำ/วาจา ในการให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลของผู้ให้คำปรึกษามากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.9 (SD = 0.4)
กลุ่มตัวอย่างที่สามารถหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตทั้งมิติด้านร่างกายและมิติด้านจิตใจสูงกว่าผู้ที่ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ตัวแปรที่สามารถทำนายการหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่อง 6 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความมั่นใจในการเลิกบุหรี่ (OR = 1.447, 95% CI = 1.173-1.785) และจำนวนครั้งในการโทรติดตาม (OR = 1.391, 95% CI = 1.122-1.724)