ยุวดี วงษ์แสง
การศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และระดับการติดบุหรี่ในกลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งชายและหญิงที่โทรฯ เข้ามารับบริการเลิกบุหรี่จากศูนย์ฯ และได้รับการติดตามครบตามโปรแกรม พบว่า
1 ลักษณะประชากร พฤติกรรมการสูบบุหรี่และระดับการติดบุหรี่ (เก็บข้อมูลระหว่าง 1 มกราคม 2552 ถึงสิงหาคม 2553)
ผู้รับบริการที่ระบุเพศพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็นชาย ร้อยละ 12 เป็นหญิง อาชีพส่วนใหญ่คือทำงานกับบริษัทเอกชน/โรงงาน (ร้อยละ 13) รองลงมาคือทำกิจการส่วนตัว (ร้อยละ 12) เมื่อจำแนกรายเดือนพบว่าเดือนมิถุนายน มีการโทรฯ เข้ามากที่สุด (ร้อยละ 14) รองลงมาคือเดือนกรกฎาคม (ร้อยละ 10)
ผู้รับบริการโดยรวมที่ระบุอายุ เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่าร้อยละ 95.8 มีอายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปี รองลงมาร้อยละ 2.4 มีอายุมากกว่า 60 ปีและร้อยละ 1.8 มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และเมื่อจำแนกตามเพศและกลุ่มอายุพบว่าร้อยละ 90 เป็นเพศชายที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปี พฤติกรรมการสูบบุหรี่เหมือนกันทั้งชายและหญิงคือร้อยละ 48 สูบเป็นประจำ และร้อยละ 40 สูบบุหรี่ซอง
จากจำนวนผู้ที่โทรฯ เข้ามาและระบุเพศพบว่าส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงร้อยละ 66 เคยเลิกสูบมาแล้ว 1 ครั้งหรือมากกว่า โดยร้อยละ 72 ใช้วิธีหักดิบ สาเหตุที่ทำให้กลับมาสูบซ้ำในเพศชายคือการเข้าสังคม ดื่มแอลกอฮอล์และเห็นผู้อื่นสูบ และในเพศหญิงคือเครียด (หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ) แรงจูงใจในการหยุดสูบครั้งนี้พบว่าการตระหนักรู้พิษภัยบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญทั้งในเพศชายและเพศหญิงร้อยละ 80 รองลงมาร้อยละ 38 เป็นเพราะครอบครัวต้องการให้หยุดสูบ ร้อยละ 22 เห็นว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย/ราคาแพง ร้อยละ 13 เห็นว่ามีพื้นที่สูบจำกัด/พื้นที่สูบน้อยลง และร้อยละ 7 เห็นว่าสังคมไม่ยอมรับ
2 ผลลัพธ์การให้บริการ (เก็บข้อมูลจากฐานข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2552 ถึงสิงหาคม 2553)
ผลลัพธ์การให้คำปรึกษาจำแนกตามเพศพบว่าเป็นชายจำนวน 16,940 คน และหญิง 2,223 คน ไม่ระบุเพศจำนวน 10,371 คน รวมทั้งสิ้นมีจำนวน 29,534 คน ผู้รับบริการที่ต้องการเลิกบุหรี่ในวันที่โทรฯ ส่วนใหญ่เป็นทั้งเพศชายและเพศหญิง จำนวน 8,140 คน (56.43%) ที่วางแผนจะเลิกบุหรี่ จำนวน 5,276 คน (36.57%) ค่อยๆ ลดปริมาณการสูบ จำนวน 723 คน (5.01%) และที่ขอคิดดูก่อนจำนวน 287 คน (1.99%) (หมายเหตุ: ผู้รับบริการที่ต้องการเลิกสูบในวันที่โทรฯ และวางแผนจะเลิกถือเป็นกลุ่มที่กำหนดวันหยุดบุหรี่ (set quit date) ซึ่งศูนย์ฯ จะติดตามหลังให้คำปรึกษาจำนวน 6 ครั้ง คือ 7 วัน 14 วัน 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี)
ผลลัพธ์การให้คำปรึกษา จากจำนวน 29,534 คน ซึ่งเป็นผู้ที่กำหนดวันหยุดบุหรี่ เมื่อจำแนกตามเพศและโรคประจำตัวของผู้รับบริการพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความดันโลหิตสูง รองลงมาคือที่มีอาการหอบหืด เบาหวาน หัวใจ ปอดและปัญหาสุขภาพจิตตามลำดับ ส่วนเพศหญิงเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูง รองลงมาคือที่มีอาการหอบหืด เบาหวาน หัวใจ เช่นเดียวกันแต่สองอันดับสุดท้ายเป็นปัญหาสุขภาพจิตและปอดตามลำดับ สำหรับอายุของผู้ที่ต้องการหยุดบุหรี่ในวันที่โทรฯ ส่วนใหญ่พบในทุกช่วงอายุ จำนวน 8,165 คน (57.35%) รองลงมาคือวางแผนจะเลิก จำนวน 5,255 คน (36.91%) ค่อยๆ ลดปริมาณการสูบลง จำนวน 583 คน (4.10%) และขอคิดดูก่อน จำนวน 233 คน (1.64%) ตามลำดับ ในผู้ที่มีช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปีมีความดันโลหิตสูงมีกำหนดหยุดสูบบุหรี่หลังได้รับบริการ (set quit date) สูงสุด รองลงมาคือ หอบหืด เบาหวาน หัวใจ ปัญหาสุขภาพจิตและปอด ตามลำดับ ส่วนอายุ 60 ปีขึ้นไปผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกำหนดวันหยุดสูบหลังได้รับบริการ (set quit date) สูงสุด เช่นกันรองลงมา คือ หอบหืด เบาหวาน หัวใจ ปอดและปัญหาสุขภาพจิต ตามลำดับ
ผลลัพธ์การให้บริการ ด้านอัตราการหยุดสูบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (quit attempt) จำแนกตามเพศพบว่า ผู้ที่ได้รับการติดตามหลังให้คำปรึกษามีอัตราการหยุดสูบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (49.64%) พบว่าเพศชายมีอัตราการหยุดสูบมากกว่าเพศหญิง โดยเพศชายหยุดสูบ 50.36% ของผู้ที่ได้รับการติดตามจำนวน 5,631 คน และเพศหญิงหยุดสูบ 44.19% ของผู้ที่ได้รับการติดตามจำนวน 697 คน ตามลำดับ)
ผลลัพธ์การให้บริการ ด้านอัตราการหยุดสูบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (quit attempt) จำแนกตามเพศและโรคประจำตัวพบว่าเพศชายที่มีความดันโลหิตสูงกำหนดวันหยุดสูบหลังได้รับบริการ (set quit date) สูงสุด รองลงมาคือ หอบหืด ส่วนเพศหญิงที่มีความดันโลหิตสูงกำหนดวันหยุดสูบหลังได้รับบริการ (set quit date) สูงสุดเช่นกัน รองลงมาคือ ปอด หัวใจ และปัญหาสุขภาพจิต ตามลำดับ
ผลลัพธ์การให้บริการ ด้านอัตราการหยุดสูบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (quit attempt) จำแนกตามช่วงอายุ เมื่อติดตามหลังให้คำปรึกษาพบว่ามีผู้ที่สามารถหยุดสูบได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง (48.50%) จากจำนวนผู้ที่ได้รับการติดตาม 6,448 คน โดยช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราการหยุดสูบสูงสุดคือร้อยละ 51.51 ของผู้ที่ได้รับการติดตาม 33 คน รองลงมาคืออายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปี เป็นร้อยละ 49.81 ของผู้ที่ได้รับการติดตามจำนวน 6,107 คน และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 43.59 ของผู้ที่ได้รับการติดตามจำนวน 156 คน
ผลลัพธ์การให้บริการ ด้านอัตราการหยุดสูบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (quit attempt) จำแนกตามช่วงอายุและโรคประจำตัวของผู้รับบริการ พบว่าช่วงอายุ 15 ถึง 60 ปี ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและหอบหืดกำหนดวันหยุดสูบหลังได้รับบริการ (set quit date) สูงสุด รองลงมาคือ เบาหวาน ปัญหาสุขภาพจิต หัวใจและปอด ตามลำดับ ส่วนอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกำหนดวันหยุดสูบหลังได้รับบริการ (set quit date) สูงสุดเช่นกัน รองลงมาคือ เบาหวาน และหัวใจ หอบหืด และปัญหาสุขภาพจิต ตามลำดับ
ผลลัพธ์การให้บริการ ด้านอัตราการหยุดสูบ 6 เดือน (quit rate) จำแนกตามเพศของผู้รับบริการ พบว่า ผู้ที่ต้องได้รับการติดตามหลังให้คำปรึกษา ณ กำหนดการติดตาม 6 เดือน มีอัตราการหยุดสูบ 6 เดือน (quit rate) เป็นร้อยละ 38.67 ของผู้ที่ต้องได้รับการติดตาม จำนวน 918 คน เมื่อจำแนกตามเพศพบว่า เพศชายมีอัตราการหยุดสูบ 6 เดือน สูงกว่าเพศหญิง คืออัตราการหยุดสูบของเพศชาย 6 เดือน (quit rate) เป็นร้อยละ 38.50 ของผู้ที่ต้องได้รับการติดตาม 831 คน และเพศหญิงมีอัตราการหยุดสูบ 6 เดือน (quit rate) เป็นร้อยละ 35.82 ของผู้ที่ต้องได้รับการติดตาม 67 คน
ผลลัพธ์การให้บริการ ด้านอัตราการหยุดสูบ 6 เดือน (quit rate) จำแนกตามช่วงอายุของผู้รับบริการพบว่า จากผู้ที่ต้องได้รับการติดตามหลังให้คำปรึกษา มีอัตราการหยุดสูบ 6 เดือน (quit rate) เป็นร้อยละ 38.67 โดยอายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปี เป็นร้อยละ 15.09 ของผู้ที่ต้องได้รับการติดตามจำนวน 336 คน รองลงมาคืออายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราการหยุดสูบสูงสุดเป็นร้อยละ 33.33 ของผู้ที่ต้องได้รับการติดตามจำนวน 27 คน ส่วนอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่พบว่ามีผู้ที่สามารถหยุดสูบได้