การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ผศ.ดร.ทนพ.ยุทธนา หมั่นดี* และคณะ 

การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ทำให้มีระดับความเครียดออกซิเดชันเพิ่มสูงขึ้นในเลือด ซึ่งตรวจวัดได้ด้วย ระดับมาลอนไดอัลดิไฮด์ (malondialdehyde; MDA) และส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immunity) ที่ตรวจวัดได้ด้วย ระดับการจับกินเชื้อรา แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) โดยเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลล์ (neutrophils) 
    ได้เจาะเลือดชาย 31 คน ที่สมัครใจ อายุระหว่าง 36 – 73 ปี สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ไม่ได้รับยาใดใด ผู้ที่ติดบุหรี่ สูบทุกวันๆ ละประมาณ 10 มวน หรือมากกว่า สูบมานามมากกว่า 3 ปี ผู้ที่ติดสุรา ดื่มทุกวัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 1 ดื่มมาตรฐาน (เบียร์ 1 กระป๋อง หรือ สุรา 1 เป็ก) ขณะเจาะเลือดไม่มีอาการมึนเมา 
    ตรวจวัดระดับ MDA ในเลือด โดยปั่นแยกเอาเฉพาะน้ำเหลือง (plasma) นำมาทำปฏิกิริยา ระหว่าง MDA ในน้ำเหลืองกับ ไทโอบาร์บิทูริกเอซิด (thiobarbituric acid; TBA) ได้เป็นสารมีสีชื่อ ไทโอบาร์บิทูริก เอซิด รีแอกตีบ ซับสแตนท์ (thiobarbituric acid reactive substance; TBARS) ที่ละลายใน บิวทานอล (butanol) นำมาวัดค่าการดูดกลืนแสง (optical density; OD) ที่ความยาวคลื่น 532 นาโนเมตร นำค่า OD ที่ได้ไปเทียบหาความเข้มข้นของ MDA เป็น ไมโครโมล กับกราฟมาตรฐาน ตรวจวัดซ้ำรายละ 2 ครั้ง รายงานผลเป็น ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของ MDA
    ตรวจวัดระดับการจับกินเชื่อราโดยเม็ดเลือดขาว โดยผสมเชื้อราจำนวน 8 ล้านเซลล์ ลงไปในเลือดที่มี นิวโตรฟิลส์ 2 ล้านเซลล์ หรือในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ผสมให้เข้ากันดี บ่มไว้ในอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที นำส่วนผสมนั้นมาทำเป็นแผ่นฟิล์มเลือดบาง เป่าลมให้แห้ง ย้อมด้วยสีไรท-ยิมซา (Wright-Giemsa) นับ นิวโตรฟิลส์ 100 เซลล์ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 1,000 เท่า ตรวจวัดซ้ำรายละ 2 ครั้ง รายงานผลเป็น ค่าเฉลี่ยร้อยละของเม็ดเลือดขาวที่จับกินเชื้อรา 

1440504165891.jpg1440504171200.jpg

ภาพที่ 1 ผลของปฏิกิริยาการเกิดสีในการตรวจวัดระดับมาลอนไดอัลดีไฮด์ในเลือดและการจับกินเชื้อรา (C. albicans) ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลล์ (ล่าง-ขวา) เซลล์ที่ให้ผลบวก (positive) คือ เซลล์ที่มีเชื้อรา C. albicans (ลูกศรชี้) อยู่ภายใน  (บน-ซ้าย) เซลล์ที่ให้ผลลบ (negative) คือ เซลล์ที่ไม่มีเชื้อรา อยู่ภายใน

ผลการศึกษาพบว่าใน กลุ่ม ก ผู้ที่ติดทั้งบุหรี่และสุรา (12 คน) กลุ่ม ข ผู้ที่ติดบุหรี่อย่างเดียว (2 คน) กลุ่ม ค ผู้ที่ติดสุราอย่างเดียว (10 คน) และ กลุ่ม ง ผู้ที่ไม่ติดบุหรี่และไม่ติดสุรา (7 คน) มี ระดับ MDA (ค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 2.3±1.0, 2.1±0.7, 1.5±0.7 และ 1.5±0.7 ไมโครโมล ตามลำดับ โดย กลุ่ม ก และ ข มีค่าสูงกว่า กลุ่ม ค และ ง ร้อยละของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลส์ที่จับกินเชื้อรา เท่ากับ 65.3±18.7, 77.5±7.8, 81.7±7.4 และ 86.1±13.3 % ตามลำดับ โดย กลุ่ม ก ข ค และ ง มีค่าเรียงลำดับ จากต่ำสุด ไปจนถึงสูงสุด ตามลำดับ 

1440504413879.jpg

ภาพที่ 2 ผลการเปรียบเทียบระดับมาลอนไดอัลดีไฮด์และร้อยละของเม็ดเลือดขาวที่จับกินเชื้อราของทั้ง 4 กลุ่ม
      กลุ่ม ก ผู้ที่ติดทั้งบุหรี่และสุรา (12 คน)
      กลุ่ม ข ผู้ที่ติดบุหรี่อย่างเดียว (2 คน)
      กลุ่ม ค ผู้ที่ติดสุราอย่างเดียว (10 คน)
      กลุ่ม ง ผู้ที่ไม่ติดบุหรี่และไม่ติดสุรา (7 คน)

สรุปได้ว่า การสูบบุหรี่ และ/หรือ การดื่มสุรา ทำให้มีความเครียดในเลือดสูง และเม็ดเลือดขาวจับกินเชื้อโรคได้น้อยลง ทำให้เป็นโรคได้ง่าย และมีอาการรุนแรงกว่าปกติ ความรู้ที่ได้นี้ นำไปใช้รณรงค์ให้ ลดละเลิก สูบบุหรี่และดื่มสุรา เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและบุคคลอื่นรอบข้าง ได้เป็นอย่างดี ต่อไป

* ผศ.ดร.ทนพ.ยุทธนา หมั่นดี สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา  
E-mail: myuttana@hotmail.com 

หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th