วัยรุ่นกับบุหรี่

วัยรุ่นกับบุหรี่ (1)

ดร.สุชาดา เรืองรัตนอัมพร
นักวิชาการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.1 ใน พ.ศ. 2552 เป็นร้อยละ 18.4 ใน พ.ศ. 2554 และใน พ.ศ.2554 นี้พบด้วยว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีอายุเฉลี่ย 17.9 ปี (1) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ให้ความสำคัญกับประเด็นเด็กกับการติดบุหรี่ โดยกล่าวว่า เด็ก 10 คนที่ติดบุหรี่ มี 7 คนที่เลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิตและอีก 3 คนต้องใช้ความพยายามในการเลิกบุหรี่นานถึง 20 ปี   

          จากฐานข้อมูลของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2553 - 2557) ผู้สูบบุหรี่ที่โทรฯ เข้ามารับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่มีจำนวนมากกว่า 120,000 คน ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีประมาณสองหมื่นกว่าคน สำหรับนักสูบหน้าใหม่หรือผู้ที่สูบบุหรี่มาไม่เกิน 1 ปี มีประมาณสี่พันกว่าคน ซึ่งในกลุ่มนี้มีแม้จะดูจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่โทรฯ เข้ามาทั้งหมด หากผู้สูบที่อายุยังน้อยรวมทั้งที่เป็นผู้สูบหน้าใหม่กลุ่มนี้ยังไม่เลิกสูบหรือยังเลิกสูบไม่ได้ สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือผู้สูบกลุ่มนี้จะเป็นผู้สูบวัยผู้ใหญ่ที่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากพิษของควันบุหรี่ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และโรคไม่ติดต่อร้ายแรงต่างๆ  

          จากการศึกษาในผู้สูบที่ได้รับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์พบว่าร้อยละกว่า 70 สามารถเลิกได้เนื่องจากแรงจูงใจที่เกิดจากความต้องการเลิกด้วยตนเอง (2) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่พบว่าจากฐานข้อมูลในช่วง 5 ปีดังกล่าว กลุ่มที่เป็นนักสูบหน้าใหม่ราวร้อยละ 80 จากทั้งหมดสี่พันกว่าคน มีการกำหนดวันเลิกสูบอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ โดยหวังว่าจะมีผู้สูบที่สามารถเลิกได้จริงอีกเป็นจำนวนไม่น้อย    

            อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าเป็นกังวลกล่าวคือ จากรายงานประจำปีของโรงงานยาสูบ (3) ระบุจำนวนการจำหน่ายบุหรี่ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด จาก 28,537.06 ล้านมวนใน พ.ศ. 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 32,567.51 ล้านมวน 32,602.45 ล้านมวน และ 33,072.87 ล้านมวน ใน พ.ศ. 2554, 2555, และ 2556 ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนความจริงได้ว่ามีทั้งผู้สูบและการสูบที่มากขึ้น ผู้สูบที่มีอายุน้อยหรือกลุ่มวัยรุ่นนับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีจำนวนมากขึ้นและมีแนวโน้มมากขึ้นอีก ดังนั้นการพยายามช่วยให้ผู้สูบกลุ่มนี้เลิกบุหรี่ได้ รวมทั้งป้องกันมิให้มีการเข้าถึงบุหรี่ได้โดยง่ายจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน  

 

1441627934903.jpg

"บุหรี่ไม่ใช่สินค้าปกติแต่เป็นสินค้าอันตราย สามารถทำให้ผู้บริโภคป่วยและตายได้     
การจำหน่ายบุหรี่จึงต้องมีกฎหมายที่รัดกุมและเข้มงวดเพื่อป้องกันมิให้เด็กและเยาวชน
เข้าถึงได้โดยง่าย"

บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก    

  1. สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสุขภาพ http://www.thaihealth.or.th/Content/7706l (7 สค 2558)
  2. จินตนา ยูนิพันธุ์, วราภรณ์ ชัยวัฒน์, สุนิดา ปรีชาวงษ์, และ สุวิมล โรจนาวี (2556). อัตราการเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยเรื้อรังหลังได้รับคำปรึกษาจากศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ. วารสารสาธารณสุขและการพัฒนา. 11(2): 49-61.
  3. http://www.thaitobacco.or.th/thai/?page_id=10322 (7 สค 2558)

 

เอกสารแนบ
Attach.pdf (179 kB)
หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th