อัตราการเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยเรื้อรัง
หลังได้รับคำปรึกษาจากศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
จินตนา ยูนิพันธุ์, วราภรณ์ ชัยวัฒน์, สุนิดา ปรีชาวงษ์, สุวิมล โรจนาวี
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรและเกิดโรคเรื้อรังมากมาย สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สูบบุหรี่พบว่า การสูบบุหรี่ทำให้อาการของโรคกำเริบ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประชากรทั่วไป การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาอัตราการเลิกบุหรี่ต่อเนื่องที่ระยะเวลา 1, 3, และ 6 เดือน อัตราความพยายามเลิกบุหรี่และแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับบริการจากศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาประสิทธิผลของบริการเลิกบุหรี่ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เก็บข้อมูลผู้ใช้บริการของศูนย์ฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ถึงกรกฎาคม 2553
ภาพโดยผู้แสดงจาก Quitline | กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูบบุหรี่ 91 ราย ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โดย 5 อันดับแรกที่พบได้แก่ ภูมิแพ้ ความดันโลหิตสูง หืด แผลในกระเพาะอาหาร และเบาหวาน ร้อยละ 15.4 14.3, 9.9, 9.9 และ 6.6 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่าง 36 ราย (ร้อยละ 39.6) หยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน กลุ่มตัวอย่าง 25 ราย (ร้อยละ 27.5) และ 22 ราย (ร้อยละ 24.2) หยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ นอกจากนี้ 37 ราย (ร้อยละ 40.7) หยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน คิดเป็นอัตราความพยายามเลิกบุหรี่ 0.4 และ 54 ราย (ร้อยละ 59.3) ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ กลุ่มตัวอย่างที่หยุดบุหรี่ได้ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.3) มีแรงจูงใจที่เกิดจากความต้องการเลิกด้วยตนเอง |
จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าบริการเลิกบุหรี่ของศูนย์ฯ มีประสิทธิภาพในการช่วยให้บุคคลเลิกบุหรี่ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งยังไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ อาจเนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการเลิกบุหรี่ ดังนั้นบุคลากรทางด้านสุขภาพต้องส่งเสริมการเลิกบุหรี่ให้กับผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมติดตามและประเมินผลเป็นระยะ
(ตีพิมพ์ใน วารสารสาธารณสุขและการพัฒนา. 2556; 11(2): 49-61)