ผู้ป่วยและญาติกับการป่วยเป็นมะเร็ง
โดย ดร.สุชาดา เรืองรัตนอัมพร
นักวิชาการ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
ทุกวันนี้พบผู้ป่วยโรคมะเร็งมากขึ้นโดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งมีหลักฐานยืนยันแน่นอนแล้วว่า บุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรค ผู้สูบบุหรี่จำนวนไม่น้อยที่แม้ทราบความจริงข้อนี้แต่ยังคงสูบบุหรี่อยู่ เมื่อเริ่มมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะเป็น“โรคมะเร็ง” จะส่งผลกระทบกับความรู้สึก ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อตัวผู้ป่วยและบุคคลที่อยู่แวดล้อม ทั้งคนใกล้ชิด คนในครอบครัวและคนทั่วไปที่รู้จักกัน | |
| |
นักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ ชื่อ อลิซเบท คูร์เบอร์ รอส อธิบายถึงความเศร้าโศกกับการสูญเสีย ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ว่าเป็นช่วงระยะเวลาของการเกิดความรู้สึก ในกรณีการป่วยเป็นมะเร็ง ระยะแรกเริ่มด้วยการปฏิเสธไม่เชื่อผลการวินิจฉัย แต่เมื่อมีการยืนยันผลการตรวจหรือการตรวจซ้ำจนไม่อาจปฏิเสธได้ ความรู้สึกจะกลายเป็นความโกธรเพราะทำไมที่บางคนสูบบุหรี่มากแต่ดูแข็งแรง รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม แต่หากเป็นมะเร็งจริง ก็จะขออย่าให้ต้องเป็นมากหรือขอให้มีทางที่สามารถบรรเทาอาการป่วยได้ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงความรู้สึกซึมเศร้าและการยอมรับความจริงในที่สุด โรคมะเร็งปอด สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับการรักษาและเป็นภาระให้กับครอบครัว หากมีอาการทุกข์ทรมานกับอาการป่วย จะยิ่งสร้างความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจกับผู้ใกล้ชิด ที่ต้องพบเห็นแต่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ การเลิกบุหรี่ให้ได้จะเป็นการกำจัดปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด ไม่ว่าจะสูบบุหรี่มานานหรือสูบมามากเพียงใด การเลิกบุหรี่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น |
แม้โรคมะเร็งบางชนิดอาจรักษาได้ แต่การป่วยเป็นมะเร็งทำให้ต้องทนทุกข์ทรมาน |
สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งบอกก่อนตายคือ ป้องกันได้ต้องป้องกัน |