การสูบบุหรี่ เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและโรคสมองขาดเลือดอย่างไร
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมองและเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1 ใน 3 จาก โรคหลอดเลือดสมอง การสูบบุหรี่ยังเป็นการเพิ่มปริมาณไตรกรีเซอไรด์และลดไขมันดีในร่างกาย ส่งผลให้เลือดมีความเหนียวข้นและมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจและสมอง อีกทั้งยังทำลายเซลล์และเส้นเลือดซึ่งส่งผลให้มีการเพิ่มและก่อให้เกิดคราบต่างๆ (ไขมัน, คอเรสเตอรอล, แคลเซียม และสสารอื่นๆ) ในเส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดหนาและตีบมากขึ้น
การหายใจรับเอาควันบุหรี่มือสอง มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคหัวใจและโรคสมองขาดเลือด
การได้รับเอาควันบุหรี่มือสองก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ควันบุหรี่มือสอง คือ การรับควันจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ ที่เกิดจากการเผาไหม้และจากการพ่นควันของผู้สูบ การสูดเอาควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวาย และโรคสมองขาดเลือด การได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุลำดับต้นๆที่ชาวอเมริกันเกือบ 34,000 คน ซึ่งได้รับควันบุหรี่มือสอง เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจในแต่ละปี
ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง จากทั้งที่ทำงานหรือที่บ้าน จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจอยู่ร้อยละ 25 – 30 และการได้รับควันบุหรี่มือสอง ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองขาดเลือดร้อยละ 20 – 30
ควันบุหรี่มือสอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคสมองขาดเลือดของชาวอเมริกันมากกว่า 8,000 รายต่อปี การได้รับควันบุหรี่มือสอง เป็นการรบกวนกลไกการทำงานของหัวใจ, การไหลเวียนของเลือด และระบบหลอดเลือด ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหัวใจวายได้
แม้จะได้รับควันบุหรี่มือสอง แค่เพียงระยะสั้นๆ ก็สามารถทำลายการทำงานของหลอดเลือด และเป็นสาเหตุให้เลือดมีความเหนียวข้น และก่อให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลัน ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ที่มา : http://www.cdc.gov/tobacco/basic_information/health_effects/heart_disease/
รัชนก หงสวินิตกุล : ผู้แปล