ดร.สุชาดา เรืองรัตนอัมพร
นักวิชาการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
โรคในกลุ่มหัวใจและหลอดเลือดได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกลุ่มนี้เป็นสาเหตุการตายหนึ่งในสี่อันดับแรกของคนไทยตลอด ๔ – ๕ ปีที่ผ่านมา ปัจจัยเสี่ยงของโรคกลุ่มนี้ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และการสูบบุหรี่
จากการศึกษาในพระภิกษุที่ผ่านมาพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่พบได้มากที่สุด เช่นการสำรวจพระภิกษุทั่วประเทศพบสูบบุหรี่ร้อยละ ๔๑.๓๐ (๑) การตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุจาก ๗๗ จังหวัดพบสูบบุหรี่ร้อยละ ๔๐ (๒) จากการศึกษาเฉพาะในกรุงเทพฯ พบว่าพระภิกษุและสามเณรสูบบุหรี่ร้อยละ ๑๓.๘๐ (๓) ขณะที่ที่จังหวัดนครราชสีมาพบสูบบุหรี่ร้อยละ ๔๐.๒ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะสูบ ๘ มวนต่อวัน และที่น่าสนใจกว่านั้นคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๘๙.๖ ซื้อสูบเอง (๔)
ผู้ที่สูบบุหรี่ทราบดีว่าการเลิกสูบเป็นเรื่องยาก แต่มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยสามารถเลิกได้ เช่นกรณีหลวงพ่อคูณ ปุริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ ท่านสูบบุหรี่มานาน คนรอบตัวท่านมีส่วนสนับสนุนให้ท่านสูบ จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านอาพาธด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบแพทย์ที่ดูแลอธิบายว่าอาการป่วยของท่านมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่และแนะนำให้ท่านเลิกสูบ
หลวงพ่อคูณเป็นต้นแบบของคนที่เลิกสูบได้ ท่านยืนยันในวันที่ท่านออกจากโรงพยาบาลว่า "กูเลิกบุหรี่แล้ว" และกล่าวด้วยว่า "จะเลิกบุหรี่ต้องอยู่ที่ใจ เป็นคนใจไม่จริง จะละไม่ได้ ต้องเป็นคนใจเด็ดขาดวิธีละง่ายๆ ก็อย่าสูบ วางเลยทิ้งเลย"
บุหรี่มีผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะสูบมานานเพียงใดแต่หากเลิกได้จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มหัวใจและหลอดเลือด ลดอัตราการเกิดโรคซ้ำและลดอัตราตายได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
๑ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อมูลพื้นฐาน http://www.onab.go.th
๒ มูลนิธิ ๕๐ พรรษามหาวชิราลงกรณ์ รายงานผลการดำเนินงาน โครงการวิเคราะห์ข้อมูลการคัดกรองสุขภาพพระภิกษุ สามเณรในภาพรวม ๗๗ จังหวัด ทั่วประเทศ โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุ สามเณรในพระบรมราชูปถัมภ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
๓ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สถิติการอาพาธของพระสงฆ์ที่มารับการตรวจรักษา พ.ศ.๒๕๔๙ โรงพยาบาลสงฆ์ งานเวชระเบียนและสถิติ
๔ นุสรณ์ คูธนะวนิชพงษ์ และคณะ สถานการณ์การสูบบุหรี่ของภิกษุ สามเณร แม่ชี และศิษย์วัดในจังหวัดนครราชสีมา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงศ์เชาวลิตกุล