สมองมนุษย์สามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมอาการอยากสูบบุหรี่ได้ : ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล
งานวิจัยชิ้นใหม่ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลชี้ให้เห็นว่าการบำบัดอาการอยากสูบบุหรี่โดยทำให้มีความรู้สึกสบายหรือมีความสุขช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้โดยวิธีการดังกล่าวเข้าไปควบคุมการทำงานของสมองสองส่วนที่มีการทำงานเชื่อมต่อกัน
จากการวิจัยพบว่าผู้สูบบุหรี่ที่ได้รับการแนะนำให้สร้างความรับรู้หรือความคิด เช่นฝึกให้คิดถึงผลระยะยาวที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ จะมีการทำงานเพิ่มขึ้นในสมองส่วน prefrontal cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการควบคุมการรับรู้และความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ส่วนการทำงานในสมองส่วน striatum ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับอาการอยากสูบบุหรี่และพฤติกรรมการต้องการสิ่งตอบแทนมีการทำงานลดลง
“ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้สูบบุหรี่สามารถควบคุมอาการอยากสูบบุหรี่ของตนเองได้ เพียงแต่จำเป็นต้องได้รับการแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร”
อาการอยากสูบบุหรี่เป็นตัวเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดการกลับมาสูบบุหรี่อีก ซึ่งส่งผลให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศที่สูงอย่างน่าตกใจ เฉพาะการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400,000 รายต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกา มากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์รวมกัน
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าผู้ใช้สารเสพติดจะเกิดสภาวะด้อยประสิทธิภาพใน prefrontal cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์ แต่ไม่พบประเด็นดังกล่าวในกรณีของผู้สูบบุหรี่ สมองส่วนนี้กลับมีการทำงานเพิ่มมากขึ้น และมีรายงานว่าผู้สูบบุหรี่มีอาการอยากสูบบุหรี่น้อยลงเมื่อใช้การรักษาโดยการเปลี่ยนวิธีการคิดดังกล่าว
การบำบัดทางพฤติกรรมโดยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนวิธีการคิดเป็นวิธีที่ได้ผลในการรักษาความผิดปกติทางจิตใจในหลายกรณีรวมถึงความผิดปกติที่เกิดจากการใช้สารเสพติดด้วย “เราไม่พบสภาวะด้อยประสิทธิภาพในสมองส่วน Prefrontal cortex ซึ่งแสดงว่าเมื่อได้รับการกระตุ้นสมองสามารถเรียกคืนส่วนที่ใช้ในการควบคุมเพื่อลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้”
ที่มา: EurekAlert! วันที่ 2 สิงหาคม 2553